เขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง
เขื่อนกิ่วลม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
ประโยชน์ที่ได้รับ - เนื้อที่ชลประทานฝั่งขวา 51,000 ไร่
- ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ 400 กิโลวัตต์
- ส่งน้ำให้กับโครงการแม่วังสำหรับเนื้อที่เพาะปลูก 77,000 ไร่ โครงการแม่ปุง สำหรับเนื้อที่เพาะปลูกฤดูฝน 25,800 ไร่ ฤดูแล้ง 72,000 ไร่
1. ใช้เพาะปลูกในฤดูฝนในระบบการส่งน้ำของเขื่อนกิ่วลมได้ 52,000 ไร่ ในฤดูแล้งได้ 22,000 ไร่ และในโครงการแม่วังได้อีก 39,000 ไร่ รวม 61,000 ไร่
2. บรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำวังให้ลดน้อยลง
3. เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวลำปาง
ความเป็นมา
แม่น้ำวังมีต้นน้ำจากทิวเขาผีปันน้ำในท้อง ที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ไหลผ่านที่ราบผืนเล็ก ๆ บริเวณอำเภอวังเหนือและอำเภอแจ้ห่ม ไหลผ่านซอกเขามาออกที่ราบผืนใหญ่ ซึ่งเริ่มจากอำเภอเมืองลำปางมาจนถึงอำเภอ เกาะคา แล้วไหลเข้าซอกเขาอีก มีที่ราบผืนเล็ก ๆ บริเวณอำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก กระทั่งมาออกที่ราบแห่งสุดท้ายที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก แล้วไหลลงแม่น้ำปิงที่บ้านปากวัง อำเภอบ้านตาก มีความยาวประมาณ 300 กม.
แม่น้ำวังมีพื้นที่ลุ่มน้ำแคบ มีลำน้ำที่นับว่าใหญ่ไหลมาลงเพียง 2 สาย คือ น้ำแม่ตุ๋ย และน้ำแม่จาง เท่านั้น ประกอบกับฝนมีน้อยกว่าลุ่มน้ำอื่น ๆ ในภาคนี้ คือมีฝนทั้งปีประมาณ 1,000 – 1,200 มม. เท่านั้น แม่น้ำจึงเล็กแต่น้ำขึ้นเร็วลงเร็ว มีระยะเวลาขาดแคลนน้ำค่อนข้างนาน
กรมชลประทานได้เริ่มสร้างโครงการแม่วัง ซึ่งเป็นโครงการทดและส่งน้ำหรือเหมืองฝายเป็นโครงการแรกเมื่อ พ.ศ.2478 โครงการนี้ มีฝายสบอางกั้นแม่น้ำวังที่ตำบลบ้านแลง อำเภอเมืองลำปาง เหนือที่ตั้งจังหวัดขึ้นไป 27 กม. และระบบการส่งน้ำซึ่งมีเหมืองส่งน้ำสายใหญ่สายซอยทั้งสองฝั่ง เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่ในเขตอำเภอเมืองลำปาง กับบางส่วนของอำเภอเกาะคา และอำเภอแม่ทะ รวม 77,000 ไร่ งานเสร็จใน พ.ศ.2491 นับจากนั้นมา การทำนาในเขตโครงการแม่วัง ก็ทำได้ทั่วถึงทั้งโครงการ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
แต่การเพิ่มของพลเมืองทำให้เนื้อที่ทำกินของแต่ละครอบครัวที่มีอยู่แต่เดิม ลดลงเป็นลำดับ จนต้องบุกเบิกขยายที่ทำกินออกไปทางต้นน้ำ ประกอบดับความเจริญได้ขยายตัวขึ้น ประชาชนต้องการกินดีอยู่ดีขึ้น จึงเริ่มปลูกพืชไร่ในฤดูแล้ง เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น ทำให้น้ำในแม่น้ำวังในฤดูแล้งลดน้อยลงทุกปี จนเกิดขาดแคลนน้ำขึ้นในจังหวัดลำปาง
กรมชลประทานจึงได้วางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำวังทั้งลุ่มน้ำขึ้น โดยมีหลักการที่จะเก็บน้ำในฤดูฝนในเวลาที่มีมากเกินต้องการ และเคยทำความเสียหายให้แก่การเพาะปลูกเสมอมาไว้ให้มากที่สุดเพื่อบรรเทา อุทกภัย และ่นำเอาน้ำนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์หลาย ๆ อย่างเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยการสร้างเขื่อนเก็บน้ำที่ต้นแม่น้ำวัง 2 แห่ง คือ เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนแจ้ห่ม กับที่ลำน้ำสาขาของแม่น้ำวังอีก 3 แห่ง คือ เขื่อนแม่ตุ๋ย เขื่อนแม่ยาว และเขื่อนแม่จาง พร้อมทั้งสร้างระบบการส่งน้ำจากเขื่อนทั้ง 5 แห่ง นี้ ซึ่งจะเก็บน้ำได้รวมกัน 750 ล้าน ลบ.ม. ใช้เพาะปลูกในฤดูฝนได้ 370,000 ไร่ และในฤดูแล้งได้อีก 214,000 ไร่ โดยเริ่มก่อสร้างเขื่อนกิ่วลมบนแม่น้ำวัง เหนือฝายสบอางของโครงการแม่วัง ขึ้นไปตามลำน้ำ 13 กม.ขึ้นเป็นแห่งแรกใน พ.ศ.2510
ลักษณะโครงการ
> เป็นเขื่อนเก็บกักน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก (Gravity Type Dam)
> สูง 26.50 ม. ยาว 135 ม. มีช่องระบายกว้าง 13.00 ม. จำนวน 5 ช่อง
> ระดับสันเขื่อน + 236.00 ร.ท.ก.
> ระดับเก็บกัก + 285.00 ร.ท.ก. ระดับน้ำเก็บกักสูงสุด 285.00 ร.ท.ก.
> ปริมาณน้ำที่ระดับเก็บกัก 112 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำที่ระดับเก็บกักสูงสุด 112 ล้าน ลบ.ม.
> อาณาเขตรับน้ำ 2,700 ตร.กม. พื้นที่อ่าง ฯ ที่ระดับเก็บกักสูงสุด 19 ตร.กม. ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,200 มม./ปี
> Service Spillway ขนาด 1.25 x 2.00 ม. ระบายน้ำได้ 12.00 ลบ.ม./วินาที
> ทางระบายน้ำฉุกเฉิน ขนาด 13.00 x 8.00 ม. ระบายน้ำได้ 3,000 ลบ.ม./วินาที
> คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ยาว 40.30 กม. ปริมาณน้ำผ่านเต็มที่ 25.00 ลบ.ม./วินาที คลองซอยและคลองแยกซอย 31 สาย ยาวรวม 71.60 กม.
ระยะเวลาก่อสร้าง 18 ปี (ปี 2507 – ปี 2524)
ค่าก่อสร้าง ทั้งโครงการ 383.7 ล้านบาท เฉพาะหัวงานและอาคารประกอบ 127.5 ล้านบาท